วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

มวยไทย



ประวัติมวยไทย



มวยไทยเริ่มขึ้นในสมัยไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนไว้ว่า จะเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เท่าที่ได้ปรากฏนั้น มวยไทย ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และอาจเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับชาติไทย เพราะมวยไทยนั้นเป็นศิลปประจำชาติไทยเรา จริง ๆ ยากที่ ชาติอื่นจะลอกเลียนแบบได้
มวยไทยในสมัยก่อนเท่าที่ทราบ จะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อน ไทยเราได้มีการรบพุ่ง และ สู้รบกันกับ ประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืน จะสู้กันแต่ดาบสองมือ และมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ การรบพุ่ง ก็มีการรบ ประชิดตัว คนไทยเห็นว่าในสมัยนั้น การรบด้วยดาบ เป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้ง คู่ต่อสู้อาจเข้ามา ฟันเราได้ง่าย คนไทยจึงได้ฝึกหัด การถีบและเตะคู่ต่อสู้เอาไว้ เพื่อคู่ต่อสู้จะได้เสียหลัก แล้วเราจะได้ เลือกฟันง่ายขึ้น ทำให้คู่ต่อสู้แพ้ได้
ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้มีการฝึกถีบเตะแล้ว ก็เกิดมีผู้คิดว่าทำอย่างไรจึงจะใช้การถีบเตะนั้น มาเป็นศิลปสำหรับ การต่อสู้ ด้วยมือได้ จึงต้องให้มีผู้ที่จะคิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัว สำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่าง ๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลก สำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ นานเข้า ชาวบ้านหรือคนไทย ได้เห็นการถีบเตะ แพร่หลาย และบ่อยครั้ง เข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการ ฝึกหัดมวยไทยกันมาก จนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมาย แต่สำหรับที่ฝึกมวยไทยนั้น ก็ต้อง เป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อน และ มีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้นมวยไทยในสมัยนั้น จึงฝึกเพื่อความหมาย ๒ อย่างคือ
๑. เพื่อไว้สำหรับสู้รบกับข้าศึก
๒. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกันตัว
ในสมัยนั้น ใครมีเพลงดาบดี และเก่งกาจทางรบพุ่งนั้น จะต้องเก่งทางมวยไทยด้วยเพราะเวลารบพุ่งนั้น ต้องอาศัย มวยไทย เข้าช่วย ดังนั้นวิชามวยไทยในสมัยนั้นจึงมุ่งหมายที่จะฝึกฝนเพลงดาบและวิชามวยไทยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อที่จะรับใช้ประเทศชาติด้วยการ เป็นทหาร ได้เป็นอย่างดี


แต่เมื่อพ้นจากหน้าสงคราม ก็จะมีการชกมวยกัน เพื่อความสนุกสนาน และมีการพนันขันต่อกัน ระหว่างนักมวยที่เก่งจาก หมู่บ้านหนึ่ง กับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง มาชกกันในหน้าที่มีงานเทศกาล หรือเกิดมีการท้าทายกันขึ้น และมีการ พนันขันต่อ มวยในสมัยนั้น ชกกันด้วยหมัดเปล่า ๆ ยังไม่มีการคาดเชือก เช่น สมัยอยุธยาตอนต้น ในสมัยนั้น คนไทย ที่ทำชื่อเสียง ให้กับประเทศในวิชามวยไทย มากที่สุด คือ นายขนมต้ม ซึ่งได้ใช้วิชามวยไทยต่อสู้พม่า ถึง ๑๐ คน และพม่าก็ได้ แพ้นายขนมต้มหมดทุกคน จนถึงกับกษัตริย์พม่า พูดว่า "คนไทยถึงแม้ว่าจะไม่มีดาบ แม้แต่มือเปล่า ก็ยังมีพิษสงรอบตัว" นายขนมต้มจึงเปรียบเสมือนผู้เป็นบิดาของวิชามวยไทย เพราะทำให้คนไทยมีชื่อเสียง เกี่ยวกับ วิชามวยไทย เป็นอันมากในสมัยนั้น และชื่อเสียงก็ได้เลื่องลือมาจนถึงกับปัจจุบันนี้


ในสมัยต่อมา มวยไทยก็ยังฝึกฝนคู่กับการฝึกเพลงดาบอยู่ และยังฝึกและใช้เพื่อการทำสงคราม และฝึกฝนเพื่อการ ต่อสู้ ป้องกันตัว บางทีก็ฝึกเพื่อชกในงานเทศกาลต่าง ๆ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระมหากษัตริย์ของไทยบาง พระองค์ มีฝีมือ ในทางมวยไทย อยู่มาก เช่น พระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ ซึ่งได้หนีออกจากพระราชวัง ไปชกมวยกับชาวบ้าน และ ชกชนะด้วย ต่อมาประชาชน ทราบและเห็นว่า พระองค์ก็เป็นผู้มีฝีมือในวิชามวยไทย อยู่ในขั้นดีเยี่ยม ในสมัยต่อมา ผู้ที่มี ฝีมือในทางมวยไทยก็มีมาก เช่น พระเจ้าตากสิน วิชามวยไทยได้ยั่งยืนมาจนถึงสมัยปัจจุบัน และในสมัยอยุธยาตอนปลายนี้ มวยไทยได้ชกกันด้วยการคาดเชือก คือใช้เชือก เป็นผ้าพันมือ บางครั้งการชกก็อาจถึงตาย เพราะเชือก ที่คาดมือนั้น บางครั้งก็ใช้น้ำมันชุบเศษแล้วละเอียด ชกถูกตรงไหน ก็เป็นแผลตรงนั้น จะเห็นได้ว่ามวยไทยในสมัยนั้น มีอันตราย เป็นอันมาก


ต่อมาในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มวยไทยก็มีการฝึกตามสำนักฝึกต่าง ๆ และมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัย รัตนโกสินทร์ ก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐ และเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการ ชกมวยในสมัยนี้ ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนตอนหลัง นวมได้เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย การชกกันในสมัยหลัง ๆ จึงได้สวมนวมชก แต่การชกกันก็ยังเหมือนเดิม คือ ยังใช้การ ถีบ ชก ศอก และเข่า ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ฯ



สนามมวย

ที่เรียกกันว่าสนาม ครั้งก่อน ๆ นั้น เป็นสนามจริง ๆ คือนายสนามเอาเชือกมากั้นพอเป็นบริเวณเข้า แล้วมวยก็คาดเชือก ชกกัน บนพื้นดิน ใช้จอก หรือ กะลา เจาะรู ลอยน้ำ เป็นมาตรากำหนดเวลา จมครั้งหนึ่ง เรียกว่า ยกหนึ่ง การต่อสู้ ตามความรู้สึกในขณะนั้น เรียกว่าตื่นเต้น แต่ถ้าหากให้ชกกันเดี๋ยวนี้ ก็คงจะถูกผู้ดูให้ลง กรรมการไล่ลง หรือออกจาก เวที แน่ เพราะกว่าจะชกกันแต่ละครั้งนั้น นานจนเมื่อยตา แต่ก็น่าเห็นใจ เนื่องจากหมัดที่ใช้ชก คาดด้วยเชือกแทน สวมนวม อย่างไรก็ดี กีฬามวยเริ่มเข้าสู่ระเบียบอย่างจริงจัง ก็เมื่สร้างเวทีขึ้นกลางสนามฟุตบอลสวนกุหลาบ พื้นใช้ ไม้กระดาน เสื่อ เป็นแบบ เสื่อกระจูดทับข้างบน มีการนับโดยจับเวลา เป็นนาที มีกรรมการขึ้นคอยห้าม ครั้งแรก เคยใช้กรรมการสองคน คนหนึ่งคอยกันจับฝ่ายแดง อีกคนหนึ่งคอยกันจับฝ่ายน้ำเงิน ในสมัยก่อน มีกรรมการ ๒ คน คนหนึ่งคือ พระยานนท์เสน อีกคนหนึ่งคือ พระยานเรนทร์ราชา ที่เป็นกรรมการตัดสิน ที่นิยมยกย่องแพร่หลาย ในระหว่าง นักมวย และคณะหัวหน้านักมวย ทั่วไป




สำหรับการชกนั้น ชกกันสลับคู่ อาทิ คู่ ๑ ชกครบ ๑ ยก แล้วก็ลงจากเวที แล้วให้คุ่ที่ ๒ ขึ้นไปชกกัน เพื่อมิให้คนดู เสียเวลา ถ้ายัง ไม่แพ้ชนะกัน ก็สลับไปถึงคู่ ๓ - ๔ - ๕ จนกว่าจะสิ้นแสงตะวัน หลักเกณฑ์ และกติกาเบื้องต้น อนุญาตให้ซ้ำกันได้ ในเวลาล้ม นักมวยตอนนั้น จึงต้องเรียนรู้วิธีต่อสู้รอบตัวทีเดียว เพราะฟาวล์ไม่มี แม้กระทั่งกัดใบหู ก็เคยปรากฏ อีกอย่าง หนึ่ง สมัยนั้น นักเรียนพลศึกษามีมาก อยากจะขึ้นชกเป็นการแสดงฝีมือ และสอบไล่มวยไทย ไปในตัวเสร็จ แต่กลัวพวก นักมวยต่างจังหวัด จึงตกลงวางหลักกติกาให้กรรมการใช้ ยูยิตสู ช่วยด้วย จึงเป็นของ ธรรมดาที่เราจะเห็นนักมวยต่างจังหวัด ซึ่งไม่รู้ว่า ยูยิตสู คืออะไร ถูกทุ่ม ถูกล็อค จนออกปากส่งเสียงร้องเอ็ดตะโร ยอมแพ้ให้ไป นอกจากบางราย ที่ถูกเตะ เสียจนตั้งตัวไม่ติด และแพ้ไปก่อน



ประโยชน์ของมวยไทย

ผู้ที่ฝึกวิชามวยพอใช้การได้แล้ว ย่อมทำให้เกิดประโยชน์แก่ตน ดังนี้ (คนละส่วนกับการฝึกชกมวยเพื่อเงิน)
๑. มีความมั่นใจในตนเอง
๒. ทำให้เกิดความกล้าหาญ
๓. มีอำนาจบังคับจิตใจดีขึ้น
๔. มีความสุขุมเยือกเย็น ไม่ดีใจเสียใจง่าย
๕. มีความพินิจพิเคราะห์ รู้จักหาเหตุผล
๖. มีความมานะอดทน เพื่อสร้างสมรรถภาพ
๗. มีเชาว์ไว ไหวพริบ ทันเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน
๘. มีความเข้มแข็งอดทน ไม่ท้อแท้ และจำนนต่อเหตุการณ์ง่าย ๆ
๙. มีความรักสุจริตยุติธรรม โดยประมวลจากหัวข้อข้างต้น
เหล่านี้ย่อมเป็นที่สังเกตุว่า วิชามวยเป็นสิ่งที่สร้างสมรรถภาพให้ร่างกาย และจิตใจโดยสมบูรณ์ ผู้มุ่งศึกษาวิชามวย พึงพยายาม จนบรรลุผลที่มุ่งหมาย